"สี่ประสาน...ในร้านสี" (ตอนที่ 2)
จากตอนที่แล้วเราได้กล่าวถึงการดูแลพนักงานที่ควบคุมเครื่องจักร วันนี้เรามาต่อกันเลยกับประสานที่ 2 ค่ะ

2. จากคนก็มาถึงเครื่อง
ระบบการสีข้าวนั้นมีขั้นตอนมากมาย แต่ละขั้นตอนยังแยกย่อยไปอีก การติดตั้งเครื่องจักรนั้นเราต้องกำหนดความต้องการไว้ ว่าเราต้องการสีข้าวแบบไหน บรรจุอย่างไร เพราะเครื่องจักรมีให้เลือกพอๆกับออฟชั่นในรถยนต์ซึ่งมีให้เลือกอย่างจุใจ ถ้าไม่มีลิมิตในกระเป๋า
เมื่อมีเครื่องจักรที่ดี เหมาะสมแล้ว การออกแบบก็จะเป็นตัวชี้วัดว่าท่านทำได้ดีมากเพียงใด เพราะว่าการสร้างร้านสีนั้นใช้เงินมาก ร้านสีที่สูงมากยิ่งใช้เงินมากเป็นเงาตามตัว การติดตั้งที่ซับซ้อน หรือแคบเกินไป เวลาที่ต้องซ่อมแซมก็ทำได้ลำบาก การเดินเครื่องปรับแต่งเครื่องก็ไม่สะดวก

มีหลายท่านคิดว่าถ้าเราติดตั้งเครื่องกะเทาะอยู่ด้านบน และกะเทาะมาลงตะแกรงเหลี่ยมแล้วลงมาตู้สีฝัด เสร็จแล้วก็ลงมาตะแกรงโยก โอ้โฮ!!!! วิเศษอะไรจะขนาดนั้น ไม่รู้คนอื่นทำไมคิดไม่ออก ขอบอกเลยว่ามีคนคิดมาแล้วและก็รื้อออกมาแล้ว เพราะว่าไม่มีพนักงานคนไหนยกลูกยางกลมขึ้นไปถึงชั้นที่ 3 แล้วนั่งเปลี่ยนลูกยางในขณะที่ร้านสีกำลังโยกคลอน แล้วก็มีฝุ่นข้าวแกลบที่ฟุ้งมาจากตะแกรงข้าวแกลบด้านล่างลงไปรบกวนเวลานั่งเปลี่ยนลูกยางเวลาซ่อมเครื่องกะเทาะยิ่งไม่ต้องพูดถึง ตอนดึกๆ ยางหมดก็ไม่มีคนคอยเปลี่ยนข้าวขาดก็ไม่มีคนมาดู เพราะขึ้นร้านสีขนาด 3 ชั้นนี่เป็นตัวอย่างเล็กๆ จึงเขียนมาเพื่อให้คิดถึงเรื่องการออกแบบเป็นสำคัญ ออกแบบดี ประหยัดทุกอย่าง ตัวอย่างเรื่องสายไฟฟ้าในร้านสี บางท่านชอบสวยงาม ติดตั้งห้องควบคุมไฟฟ้าแยกออกมาจากร้านสีมาอยู่อีกฝั่งหนึ่งของอาคาร สวยงามดีมาก แต่ไม่ประหยัด มอเตอร์ในร้านสีมีมากกว่า 100 ตัว แต่ละตัวมีสายไฟ 6 เส้น สายควบคุมอีก 4 เส้น สายรีโมทอีก 4 เส้น รวม 14 เส้นถ้าห่างมา 50 เมตร มอเตอร์ 100 ตัวต้องเพิ่มสายไฟทั้งเล็กและใหญ่รวม 50 คูณ 100 คูณ 14 รวม 70,000 เมตร