พฤติกรรมการบริโภคข้าวที่เปลี่ยนแปลงไป
ดร.ซามาเรนดู โมฮันตี นักวิจัยและนักเศรษฐศาสตร์อาวุโส จากสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ ได้กล่าวถึงภาพใหญ่ในการขยายตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย ที่เพิ่มขึ้นพร้อมๆกับการบริโภคของชนชั้นกลางที่มีมากขึ้น ประชากรชนชั้นกลางในเอเชียจะเติบโตจาก 525 ล้านคนในปี 2552 เป็น 3,500 ล้านคนในปี 2573 ทำให้รายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากรในทวีปเอเชียจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 6 เท่า หรือเท่ากับรายได้ต่อหัวของคนในทวีปยุโรปในปัจจุบัน

กลุ่มประเทศที่มีเศรษฐกิจข้าวใหญ่ 5 อันดับแรกของเอเชีย คือ
- จีน
- อินเดีย
- อินโดนีเซีย
- มาเลเซีย
- ไทย
มีพื้นที่ปลูกข้าวรวมกันคิดเป็น 65% ของพื้นที่ปลูกข้าวบนโลก อีก 2 ประเทศในอาเซียน คือเวียดนามและฟิลิปปินส์ ซึ่งข้าวมีส่วนสำคัญต่อความมั่นคงทางอาหารและความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจทั้ง 7 ประเทศ จึงมีความโดดเด่นในตลาดการค้าข้าวโลกโดยอินเดีย ไทย และเวียดนามเป็น 3 ประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ในขณะที่ จีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ เป็น 4 ประเทศผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ของโลก

"การเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคม และการเติบโตของรายได้ ประชากรจึงมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงของตะกร้าอาหารโดยปกติเมื่อประชากรมีรายได้สูงขึ้น จะมีการเปลี่ยนกลุ่มอาหารที่บริโภคจากกลุ่มแป้งหรือธัญพืชไปสู่อาหารจำพวกโปรตีนมากขึ้น ในขณะเดียวกันผู้บริโภคข้าวก็จะปรับเปลี่ยนจากการบริโภคข้าวคุณภาพต่ำไปสู่ข้าวคุณภาพสูง หรือจากปลายข้าวไปเป็นข้าวสารเมล็ด และแน่นอนว่าพฤติกรรมการซื้อและการบริโภคข้าวก็เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย เช่น ผู้บริโภคในเมืองหันมาซื้อข้าวบรรจุถุงที่มีตราสินค้ามากขึ้น มีความต้องการข้าวที่มีคุณค่าทางโภชนาการมากขึ้น หรือความนิยมในการบริโภคอาหารพร้อมรับประทานที่เพิ่มสูงขึ้นในเขตเมือง ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ผู้ผลิตต้องการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพเพิ่มมากขึ้นเพื่อตอบสนองผู้บริโภค รวมถึงการแข่งขันทางการตลาด จึงเกิดปรากฏการณ์รวมตัวกันของห่วงโซ่อุตสาหกรรมในแนวดิ่งมากขึ้น คือ การรวมกันตั้งแต่ผู้จัดจำหน่าย ผู้แปรรูป ผู้ผลิตไปจนถึงผู้ปลูกในระดับไร่นา เช่น การเข้าซื้อบริษัท ทิลด้า (Tilda) ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจโรงสีและส่งออกข้าวบาสมาติของอินเดีย โดยกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร เฮน ซิเลสเซียล (Hain Celestial) ของสหรัฐอเมริกา เพื่อนำเข้าข้าวบาสมาติในรูปแบบของข้าวพร้อมรับประทานไปจำหน่ายในตลาดตะวันตก ซึ่งตรงนี้เป็นตัวอย่างการเริ่มต้นของการเชื่อมโยงกันของธุรกิจกับอุตสาหกรรมการผลิตข้าวตลอดทั้งห่วงโซ่ โดยใช้ความต้องการของผู้บริโภคเป็นตัวขับเคลื่อน"