top of page

บทความเรื่อง เกี่ยวกับธุรกิจครอบครัว (บทที่ 1)

ในวารสาร Harvard Business Review ฉบับเดือนมกราคม กุมภาพันธ์นี้ มีบทความหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับธุรกิจครอบครัว เขียนโดย George Stalk และ Henry Foley ในชื่่อ Avoid the traps that can destroy family business หรือ ถ้าแปลง่ายๆ คือการให้หลีกเลี่ยงกับดักและหลุมพรางสำหรับธุรกิจครอบครัว ซึ่งผมคิดว่าได้เปิดประเด็นที่น่าสนใจสำหรับธุรกิจครอบครัวทั้งหลายที่ปัจจุบันเริ่มเข้าสู่ยุคที่สองและยุคที่สามกันแล้ว

ปัญหาของธุรกิจครอบครัวก็คือส่วนใหญ่จะไม่ยั่งยืน และไม่สามารถสืบทอดผ่านรุ่นที่สามได้ จากข้อมูลในอเมริกานั้นพบว่าร้อยล 70 ของธุรกิจครอบครัวที่ล้มเหลวหรือถูกขายก่อนที่คนรุ่นที่สองจะได้มีโอกาสบริหาร เพียงแค่ร้อยละ 10 เท่านั้นที่ยังสามารถสืบต่อถึงรุ่นที่สามให้เข้ามาบริหารได้ นอกจากนี้ในบริษัทมหาชนทั่วๆ ไปที่มีมืออาชีพมาบริหารนั้น ระยะเวลาเฉลี่ยที่ CEO เข้ามาบริหารคือ 6 ปี แต่ในธุรกิจครอบครัวนั้น จะมีผู้บริหารระดับสูงเป็นคนๆ เดียวกันสืบต่อกันมากกว่า 20 ปีเป็นเรื่องปกติ ซึ่งการที่ผู้บริหารระดับสูงไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงเป็นระยะเวลาอันนานนั้น ก็จะส่งผลต่อการปรับตัวให้เข้ากับสภาวะแวดล้อมทางธุรกิจในด้านต่างๆ ที่เปลี่ยนไปครับ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี รูปแบบธุรกิจ หรือ พฤติกรรมของลูกค้า

จากประสบการณ์ของผู้เขียนบทความดังกล่าว เขาพบว่าสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้ธุรกิจครอบครัวล้มเหลวนั้นเกิดขึ้นเนื่องจากกับดักหรือหลุมพรางที่สำคัญสามประการครับ สัปดาห์นี้เรามาดูกันนะครับว่ามีอะไรบ้าง และท่านที่เป็นเจ้าของธุรกิจครอบครัวทั้งหลาย ลองดูนะครับว่าจะหลีกเลี่ยงจากกับดักหลุมพรางเหล่านี้ได้อย่างไร

กับดักหลุมพรางประการแรกคือความรู้สึกที่ว่าทุกคนในครอบครัวยังมีธุรกิจของตนเองไว้รองรับหรือเป็นแหล่งสุดท้ายในการทำงานเสมอ เนื่องจากพ่อแม่ที่เริ่มต้นธุรกิจครอบครัว มักจะมุ่งหวังให้ลูกหลายตนเองเมื่อเรียนจบแล้วได้มาสืบทอดต่อในกิจการของครอบครัว แต่สิ่งสำคัญที่พ่อแม่เหล่านี้ลืมคิดไปก็คือการเข้ามาทำงานหรือรับช่วงในธุรกิจครอบครัวนั้นเป็นสิ่งที่คนรุ่นหลังต้องการและสนใจหรือไม่

อาจจะมีพ่อแม่ที่ใจดีและเปิดกว้างที่เปิดโอกาสให้ลูกหลานสามารถเลือกที่จะประกอบอาชีพที่ตนเองสนใจและชื่นชอบ แต่ก็มักจะมีคำพูดตบท้ายว่า “ไม่ว่ายังไงก็ยังมีธุรกิจที่บ้านสำหรับรองรับ ถ้าทำงานตามที่ตนเองเลือกแล้วไม่ชอบหรือไม่ประสบความสำเร็จ” ซึ่งการสร้างความรู้สึกดังกล่าว ทำให้ลูกหลานมีความรู้สึกว่าธุรกิจครอบครัวนั้นเป็นเหมือนแหล่งพักพิงสุดท้ายในกรณีที่ไม่มีทางเลือกอื่นๆ ผู้เขียนบทความดังกล่าวได้มีโอกาสพบธุรกิจครอบครัวหลายแห่งที่ประกอบด้วยสมาชิกในครอบครัวที่ไม่ประสบความสำเร็จในอาชีพที่ตนเองชอบหรือเลือก และสุดท้ายก็กลับมาเป็นผู้บริหารธุรกิจครอบครัวของตนเอง ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะกลับเข้ามาเมื่ออายุไม่น้อย (40 กว่าปี ขึ้นไป) ทำให้สมาชิกครอบครัวที่เข้ามาบริหารเมื่ออายุผ่านพ้นไปช่วงหนึ่งนั้น ขาดประสบการณ์ในการบริหารธุรกิจ แต่ขึ้นมาเป็นผู้บริหารได้ เนื่องจากความเป็นธุรกิจของครอบครัว ซึ่งสุดท้ายแล้วก็มักจะนำความล้มเหลวมาสู่ธุรกิจ

การจะแก้ไขหรือหลุดพ้นจากกับดักนี้ก็ไม่ยากนะครับ เพียงแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่จะต้องใจแข็งครับ โดยปฏิบัติต่อลูกหลานของตนเองเฉกเช่นกับบุคคลทั่วไป ที่ไม่มีอภิสิทธิ์ในการสมัครงาน เช่น จะทำงานในตำแหน่งใดก็ควรจะมีวุฒิการศึกษาหรือประสบการณ์ในการทำงานที่เกี่ยวข้อง หรือ ถ้าในธุรกิจครอบครัวของท่านมีสมาชิกในครอบครัวอยู่แล้ว ก็อาจจะต้องนำระบบการวัดและประเมินผลการปฏิบัติงานมาใช้อย่างจริงจังและเป็นรูปธรรมโดยเฉพาะต่อบุคคลที่เป็นสมาชิกในครอบครัว เรามาดูกันต่อในสัปดาห์หน้านะครับ ถึงอีกสองกับดักสำหรับธุรกิจครอบครัว เพื่อที่จะให้ธุรกิจครอบครัวได้สืบต่อกันอย่างยาวนาน

บทความดีๆ โดย : รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ นำมาฝากนะครับ ยังมีบทที่ 2 ตามมา

เผยแพร่โดย วิสูตร จิตสุทธิภากร 18/06/59


Featured Posts
Recent Posts
Archive
Search By Tags
ยังไม่มีแท็ก
Follow Us
  • Facebook Basic Square
  • Twitter Basic Square
  • Google+ Basic Square
bottom of page