ธุรกิจครอบครัว (บทที่ 2)

สัปดาห์นี้ต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่แล้วนะครับ เป็นเรื่องของกับดักสำคัญของธุรกิจครอบครัว ว่าทำไมธุรกิจครอบครัวจำนวนมากถึงไม่ยั่งยืนเท่าที่ควร และส่วนใหญ่จะไม่สามารถอยู่เกินรุ่นที่สองหรือรุ่นที่สาม โดยผมเรียบเรียงมาจากบทความของ George Stalk และ Henry Foley ในชื่อ Avoid the traps that can destroy family business ในวารสาร Harvard Business Review โดยสัปดาห์ที่แล้วนำเสนอกับดักประการแรกไปแล้วคือ การที่คนในธุรกิจครอบครัวมักจะมีความรู้สึกว่ายังไงก็มีธุรกิจครอบครัวรองรับ ดังนั้น ต่อให้ล้มเหลวจากวิชาชีพอื่น ก็ยังสามารถกลับมาทำธุรกิจที่บ้านได้
กับดักประการที่สอง คือธุรกิจครอบครัวมักจะไม่สามารถเติบโตได้ทันกับการเติบโตของครอบครัว ซึ่งก็เป็นปัญหาที่เรามักจะพบเสมอในประเทศไทยครับ นึกภาพเถ้าแก่ที่เริ่มสร้างธุรกิจมีลูกหกคน แต่ละคนก็มีลูกของตัวเองอีก ยังไม่รวมสะใภ้และเขยที่มี สุดท้ายก็จะเป็นครอบครัวขนาดใหญ่ยี่สิบถึงสามสิบคน และปัญหาที่มักจะเกิดขึ้นก็คือธุรกิจครอบครัวนั้นมักจะไม่มีที่หรือตำแหน่งเพียงพอที่จะรับสมาชิกหรือบุคคลในครอบครัวกว่ายี่สิบชีวิตเข้ามาร่วมงานหรือร่วมบริหารได้ ทางแก้ก็ไม่ยากครับ (ในเชิงทฤษฎี) นั้นคือ ไม่ใช่ว่าสมาชิกทุกคนในครอบครัวจะสามารถเข้ามาร่วมทำงานในธุรกิจได้จะต้องมีการคัดเลือกและกลั่นกรองเหมือนกับการคัดเลือกพนักงานทั่วไปก่อนว่าสมาชิกครอบครัวคนไหนที่มีความสามารถและเหมาะสมที่จะเข้ามาทำงานในธุรกิจครอบครัว แต่แนวทางนี้อาจจะดูง่ายในเชิงทฤษฎี แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ถ้าไม่ตรากฎที่เข้มและยึดมั่นในกฎนี้ก็จะลำบากครับ เพราะสุดท้ายแล้วคนในครอบครัวเดียวกันก็มักจะใจอ่อนต่อกัน และอดไม่ได้ที่จะอนุญาติคนในครอบครัวที่มีคุณสมบัติที่ไม่เหมาะสมเข้ามาทำงาน อีกทางเลือกในการแก้ไขปัญหาประการที่สองคือการขยายธุรกิจให้เติบโตและทันกับการเติบโตของครอบครัว เพื่อสร้างโอกาสให้กับลูกหลานในตระกูลได้ไปดูแลธุรกิจต่างๆ และวิธีการที่เร็วสุดในการขยายธุรกิจให้ทันกับการเติบโตของตระกูลนั้นก็คือการเข้าไปซื้อกิจการอื่นครับ
กับดักประการที่สามหรือประการสุดท้าย มักจะพบว่าคนในครอบครัวนั้นเมื่อเข้ามาทำธุรกิจของตนเอง จะเริ่มต้นด้วยความเชี่ยวชาญหรือชำนาญเฉพาะด้าน เช่น คุณพ่ออาจจะเป็นวิศวกรแล้วสร้างธุรกิจ ลูกชายก็เข้าเรียนวิศวะแล้วมาทำงานต่อจากคุณพ่อ ส่วนคุณแม่นั้นดูด้านบัญชีการเงิน ลูกสาวหรือลูกสะใภ้ก็มักจะเรียนมาทางด้านบัญชีการเงิน แล้วมาทำงานด้านบัญชีการเงินต่อ ผลที่เกิดขึ้นมีสองประการครับ ประการแรกคือผู้บริหารที่มาจากคนในครอบครัวนั้นก็มักจะมีความเชี่ยวชาญหรือชำนาญในงานด้านใดด้านหนึ่ง และมักจะดูแลด้านนั้นไปตลอด ผมเองก็เจอสุภาพสตรีในธุรกิจครอบครัวที่ดูเฉพาะด้านบัญชีการเงินมาตลอดตั้งแต่สาวจนกระทั่งสูงวัย จนมีความชำนาญเฉพาะด้านสูง แต่สิ่งที่ขาดไปคือการพัฒนาตนเองในด้านอื่นๆ ซึ่งส่งผลให้ไม่สามารถพัฒนาตนเองสำหรับการเป็นผู้นำระดับสูงในองค์กรได้ นอกจากนี้ปัญหาอีกประการคือการที่คนในครอบครัวเดียวกันอยู่ในสายงานเดียวกัน ทำให้กระบวนการ Feedback และการบริหารงานในสายงานเดียวกันไม่สามารถดำเนินการได้ตามหลักการบริหารที่ควรจะเป็นครับ ทางแก้ก็ไม่ยากเช่นเดียวกันครับ นั้นคือจะต้องมีกฎที่ชัดเจนเลยว่าห้ามคนในครอบครัวเดียวกันทำงานในลักษณะของการรายงานตรงต่อกัน (เจ้านายและลูกน้องโดยตรง) จะต้องหามืออาชีพเข้ามาเสริมมากขึ้น และมืออาชีพเหล่านี้จะต้องทำหน้าที่ในการดูแลและสอนงานต่อสมาชิกในครอบครัว อีกทั้งระบบในการประเมินผลก็ต้องชัดเจนและเป็นธรรมเท่าเทียมกันทั้งกับคนในครอบครัวและคนนอกครอบครัวครับ
ส่วนตัวแล้วคิดว่ากับดักทั้งสามประการนั้น เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของกับดักทั้งหมดที่เราพบในธุรกิจครอบครัวทั่วไป แต่ก็ให้ข้อคิดที่ดีว่าทำไมธุรกิจครอบครัวจำนวนมากถึงไม่สามารถก้าวพ้นรุ่นที่สองหรือรุ่นที่สามไปได้ บทความที่ดีมากและโดนใจครอบครัวอย่างมาก นำของดีๆมาฝากครับผม