พลิกโฉมระบบการทำนาของอาเซียน (ตอนที่ 1)
ช่วงเวลา 5 - 10 ปีที่ผ่านมา ระบบการผลิตข้าวของโลกได้มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยเฉพาะในทวีปเอเชียซึ่งเป็นผู้ผลิตข้าวกว่า 90% ของผลผลิตข้าวโลก ความเปลี่ยนแปลงที่ผ่านมาเป็นผลมาจากการปรับเปลี่ยนอุปสงค์และอุปทานของข้าวในโลก รวมทั้งนโยบายข้าวของแต่ละประเทศที่แตกต่างกันไป และนักจากนี้ไปอีก 10 ปีข้างหน้า ระบบการผลิตข้าวของโลกกำลังปรับเปลี่ยนและพัฒนาไปอีกขึ้น นั่นคือความท้าทายของแต่ละประเทศในอาเซียนที่จะต้องปรับตัวให้เท่าทัน
ประชากรภาคการเกษตรที่ถูกปรับเปลี่ยน

ในขณะเดียวกันส่วนของภาคการผลิตก็มีการปรับเปลี่ยนไปอย่างมาก โดยเฉพาะการผลิตข้าวในกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งมีพื้นที่เกือบ 47 ล้านเฮกตาร์ ชาวนาส่วนใหญ่เป็นรายเล็ก มีเนื้อที่ถือครองเฉลี่ยกันเพียงประมาณ 6 ไร่ ที่ผ่านมาพื้นที่ปลูกข้าวในภูมิภาคนี้ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากเท่าใดนัก แต่ผลผลิตข้าวมีเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้เพราะมีการเพิ่มขึ้นของเขตพื้นที่ชลประทาน รวมถึงการใช้ปุ๋ยเคมีที่เพิ่มสูงขึ้น การปรับเปลี่ยนพันธุ์ข้าวที่ใช้ในการเพาะปลูกเพื่อให้ได้ผลผลิตมากขึ้น แต่ยังพบว่าผลผลิตข้าวโดยเฉลี่ยแล้วยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระดับโลก ในขณะเดียวกันก็มีสัดส่วนของการบริโภคข้าวสูงกว่าของโลกโดยรวม
การทำนาในทวีปเอเชียแต่เดิมมักเป็นชาวนารายเล็ก มีเนื้อที่ถือครองเฉลี่ยเพียงประมาณ 6 ไร่ สมาชิกในครัวเรือนร่วมกันทำนาของครอบครัว แต่จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องตลอดกว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานของคนหนุ่มสาวออกจากชนบทเข้าสู่สังคมเมือง เพื่อหาโอกาสสร้างรายได้ที่ดีกว่า ซึ่ง ดร.ซามาเรนดู ระบุว่า เหตุการณ์ลักษณะนี้ทำให้เกิดผลต่อเนื่องตามมา

"เหตุผลนี้ทำให้ผู้ที่ทำหน้าที่เพาะปลูกข้าวกลายเป็นผู้สูงอายุและผู้หญิง ซึ่งยังคงถูกทิ้งไว้ในชนบท จากรายงานการสำรวจระหว่างปี 2546-2554 พบว่าอายุเฉลี่ยของชาวนาในแถบเอเชียจะเพิ่มขึ้นขาก 40 กว่าปี มาเป็น 50-60 ปี ในขณะที่บทบาทของเพศหญิงในการทำนาก็มีการเปลี่ยนแปลงไป แต่เดิมผู้หญิงจะทำงานในเฉพาะขั้นตอนของการดำนา เก็บเกี่ยว และหลังเก็บเกี่ยวเป็นส่วนใหญ่ แต่ปัจจุบันผู้หญิงเป็นผู้ประกอบการที่มีบทบาทในการจัดการไร่นาแบบเบ็ดเสร็จ โดยมีเครื่องจักรเข้ามาช่วย ทำให้สัดส่วนของผู้หญิงที่เป็นผู้ประกอบการทำนาเพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจนในเอเชีย ตัวอย่างเช่น ในประเทศไทย ที่พบว่าเพศหญิงถือครองที่ดินเพื่อการเกษตรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 15% ในปี 2536 มาเป็น 27% ในปี 2546 อีกทั้งการเติบโตของส่วนอื่นๆ นอกภาคการเกษตรเป็นตัวการดูดซับแรงงานให้ออกจากชนบทได้มากถึง 40% ส่งผลให้เกิดภาวะขาดแคลนแรงงานในภาคการเกษตรและเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้อัตราค่าจ้างแรงงานในภาคการเกษตรพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงหลังปี 2543 ซึ่งเป็นเรื่องที่พบเห็นได้เกือบทั่วทุกประเทศที่มีการทำนาปลูกข้าว ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย บังกลาเทศ อินโดนีเซีย เวียดนาม และไทย