top of page

พลิกโฉมระบบการทำนาของอาเซียน (ตอนที่ 2)

จากตอนที่แล้วที่กล่าวถึงภาคการเกษตรที่ถูกปรับเปลี่ยนไป วันนี้เรามาต่อกันในส่วนการปรับเปลี่ยนจากแรงงานสู่เครื่องจักรกลกันค่ะ

ดร.ซามาเรนดู ได้เปรียบเทียบน้อยกลับไปถึงรูปแบบการทำนาดั้งเดิมของเอเชียที่มีลักษณะของการใช้แรงงาน ซึ่งพบว่ามีค่าจ้างแรงงานเป็นองค์ประกอบของต้นทุนถึง 45% ทำให้ชาวนาต้องหาแนวทางที่จะทดแทนแรงงานในกระบวนการทำนา เครื่องจักรกลการเกษตรจึงเริ่มเข้ามามีบทบาทเพื่อช่วยลดต้นทุนการคผลิตข้าวลง การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้สร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการเครื่องจักรกลการเกษตรขนาดเล็ก รวมทั้งผู้ให้บริการเครื่องจักรกลในรูปของการรับจ้าง ซึ่งได้ขยายตัวเติบโตเป็นทางเลือกให้กับชาวนาขนาดเล็กในเอเชีย ตัวอย่างเช่น การให้บริการเครื่องจักรกลเพื่อการเก็บเกี่ยวในไทย ที่จะเริ่มจากภาคกลางของประเทศและขยายตัวไปสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ครอบคลุมพื้นที่เป็นระยะทางกว่า 800 กิโลเมตรในเวลา 2-3 เดือน

จากผลการศึกษาของนักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ยังพบว่าอัตรการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรในเอเชีย จะแตกต่างกันระหว่างแต่ละประเทศ แม้แต่ในประเทศเดียวกันก็ยังมีความแตกต่างกันระหว่างภูมิภาคในพื้นที่ปลูกข้าวเช่น พื้นที่ภาคกลางของประเทศไทยจะใช้เครื่องจักรกลสูงกว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ถึงอย่างไรก็ตาม ด้วยปัจจัยกดดันจากการขาดแคลนแรงงานและการเพิ่มขึ้นของอัตราค่าจ้าง ทำให้การใช้เครื่องจักรกลการเกษตรเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น แม้ในพื้นที่ที่มีสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยในการเพาะปลูกข้าว อีกทั้งกลุ่มชาวนาขนาดเล็กในหลายพื้นที่ของเอเชียได้มีการเช่าที่นาเพิ่มขึ้น ทำให้พื้นที่ปลูกข้าวเพิ่มขึ้น ขนาดของเนื้อที่ซึ่งเพิ่มขึ้นนี้จะเป็นการเปิดโอกาสให้ชาวนาพัฒนาระบบการทำนาไปสู่การใช้เครื่องจักร ดังนั้นในอนาคตเครื่องจักรเหล่านี้จะแพร่กระจายครอบคลุมพื้นที่การเพาะปลูกข้าวในเอเชียเป็นจำนวนที่กว้างขวางขึ้นอย่างแน่นอน โดยเฉพาะในกิจกรรมที่เกี่ยวกับการเตรียมดิน ปักดำ เก็บเกี่ยว และนวดข้าว

การเข้ามามีบทบาทของเครื่องจักรกลการเกษตร ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างขึ้น ซึ่ง ดร.ซามาเรนดู ได้ยกตัวอย่างจากประเทศเวียดนามและไทยว่า

"หลายโครงการเกิดขึ้นเพื่อช่วยให้ชาวนาขนาดเล็กได้มีโอกาสในการเข้าถึงการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรในหลายพื้นที่ของเอเชีย ได้มีการนำร่องโครงการที่เกี่ยวข้องกับการรวมพื้นที่เพาะปลูกของชาวนาขนาดเล็กเข้าด้วยกันเพื่อให้เป็นแปลงใหญ่ เช่น "โครงการชาวนารายย่อยกับพื้นที่แปลงใหญ่" ในประเทศเวียดนาม เป็นการรวมพื้นที่นาของชาวนาขนาดเล็กให้เป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ประมาณ 300-3,000 ไร่ เพื่อสร้างความได้เปรียบของขนาดอันจะมีผลต่อการประหยัดต้นทุน ซึ่งเป็นแรงจูงใจให้ชาวนาหันมาใช้เครื่องจักรกลการเกษตร ซึ่งโครงการนี้ได้รับการตอบรับจากกลุ่มชาวนาขนาดเล็กเป็นอย่างดี หรืออย่างในจังหวัดสุพรรณบุรีของไทย ที่พบการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำนาสู่ธุรกิจอุตสาหกรรม โดยกลุ่มสมาคมโรงสีข้าวจังหวัดสุพรรณบุรี ที่ร่วมมือกับศูนย์วิจัยข้าวสุพรรณบุรี สนับสนุนให้ชาวนาในพื้นที่ประมาณ 2,500 ไร่ ปลูกข้าวพันธุ์เดียวกันในเวลาใกล้เคียงกัน เพื่อเก็บเกี่ยวในช่วงเดียวกัน เพื่อคาดหวังว่าจะลดต้นทุนการผลิตลงให้ได้ 20-30% และเรายังพบการเปลี่ยนแปลงอีกหลายอย่างในการผลิตข้าวของเอเชีย เช่น เปลี่ยนจากนาดำเป็นนาหว่าน เปลี่ยนจากการปล่อยน้ำท่วมขังในนามาเป็นระบบเปียกสลับแห้ง รวมไปถึงการปรับเปลี่ยนพันธุ์ข้าวเพื่อปลูกพันธุ์ที่ทนแล้งเพิ่มมากขึ้น"

ความเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้ ไม่ว่าจะเป็นจากพฤติกรรมของผู้บริโภค ระบบธุรกิจอุตสาหกรรมข้าว การขาดแคลนแรงงาน การเพิ่มขึ้นของค่าจ้างแรงงาน รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยกดดันให้ชาวนาขนาดเล็กในอาเซียนถูกผลักดันเข้าสู่บริบทของการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรในการทำนา ทำให้ต้องเกิดการรวมตัวกันในระดับของไร่นาเพื่อให้เกิดเป็นนาแปลงใหญ่ สร้างความได้เปรียบในเรื่องขนาดของที่นาและในที่สุดจะเป็นก้าวที่สำคัญไปสู่การทำนาสมัยใหม่เพื่อตอบรับกับรูปแบบการค้าใหม่ๆ อันนำไปสู่ความยั่งยืนของอาชีพการทำนาในอาเซียน