กระทรวงพลังงานเล็งดึกสต๊อกข้าวเสื่อมคุณภาพ 4 ล้านตันมาผลิตเอทานอล

นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้รัฐบาลมีนโยบายให้พิจารณาความเป็นไปได้ในการนำข้าวที่เสื่อมคุณภาพในสต๊อกของรัฐ ซึ่งได้รับแจ้งอย่างไม่เป็นทางการมีจำนวนทั้งสิ้นปริมาณ 4 ล้านตันในโกดังเก็บข้าว นำมาผลิตเป็นเอทานอล ดังนั้น ภายในสัปดาห์หน้าจะต้องหารือกับผู้ผลิตเอทานอลถึงความเป็นไปได้เนื่องจากที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์เองเคยนำข้าวเสื่อมคุณภาพมาประมูลแล้ว แต่ราคาที่ประมูลหากนำมาผลิตเอทานอลยังไม่คุ้มค่า

นอกจากประเด็นดึงข้าวเสื่อมคุณภาพมาผลิตเอทานอลแล้ว เมื่อเร็วๆนี้ทางผู้ค้าน้ำมันอย่าง เชฟรอน (คาลเท็กซ์) เอสโซ่ และบมจ.ปตท ได้ทำหนังสือขอให้สำรองเอทานอล 1% มาใช้ เพราะเอทานอลตึงตัว ล่าสุดกรมธุรกิจและพลังงานยังไม่เห็นความจำเป็นในการสำรอง เนื่องจากปริมาณเอทานอลไม่ถึงกับขาดแคลน แต่เพื่อป้องกันจึงได้มีหนังสือลงนามคำสั่ง โดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกำหนดให้ผู้ผลิตและผู้ค้าเอทานอลจำนวน 18 ราย (21 โรงงาน) รายงานผลการผลิต การซื้อ การจำหน่ายปริมาณเอทานอล คงเหลือรายวันให้ทางกรมธุรกิจพลังงานทราบ ภายในเวลา 11.00 น.ของทุกวัน ตามแบบที่กรมธุรกิจพลังงานกำหนด มีผลตั้งแต่วันที่ี 1 ธันวาคม 2559 ไปจนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 หากไม่ดำเนินการจะถือกระทำผิดตาม พ.ร.บ. น้ำมันเชื้อเพลิง
นายวิฑูรย์กล่าวว่า ปัญหาเอทานอลตึงตัว คาดอาจเกิดจากการวางแผนที่ผิดพลาดระหว่างผู้ค้าที่รวมกับผู้ผลิตมีการหยุดซ่อมบำรุงไปจำนวน 3 ราย (5 โรงงาน) ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ทำให้ปริมาณของเอทานอลลดลงไปจากระบบถึง 1 ล้านลิตรต่อวัน ประกอบกับฤดูกาลเปิดหีบอ้อยที่ล่าช้าเกินไปจากเดิม 5 วัน อาจทำให้การผลิตเอทานอลช่วงเดือนธันวาคมนี้ - กุมภาพันธ์ปีหน้า น้ำมันจะเกิดการตึงตัว กระทบต่อผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 บางราย ที่ใช้เอทานอลผสมเป็นแก๊สโซฮออล์ แต่หลายรายก็ไม่มีปัญหาอะไร

ขณะมีนี้ผู้ผลิตเอทานอลทั้งสิ้น 18 ราย (21 โรงงาน) คิดเป็นกำลังผลิตรวม 4.9 ล้านลิตรต่อวัน แต่ความต้องการใช้ปกติอยู่ที่ 3.6 ล้านลิตต่อวัน และความต้องการใช้สูงสุดที่เคยเกิดขึ้นอยู่ที่ 3.8 ล้านลิตรต่อวัน ดังนั้นเอทานอลจึงไม่น่าจะขาด และเมื่อมีการเปิดหีบอ้อยในวันที่ 6 ธันวาคมนี้ไปแล้วก็น่าจะดีขึ้น" นายวิฑูรย์กล่าว
จากปัญหาภาคการผลิตเอทานอลดังกล่าว อาจต้องทบทวนแผนการยกเลิกหัวจ่ายแก็สโซฮอล์ E10 แก็สโซฮอล์ 91 ซึ่งเดิมกรมธุรกิจพลังงานจะต้องประกาศ เดือนนี้เพื่อให้ผู้ประกอบการเตรียมตัวในการยกเลิกการจำหน่าย ซึ่งมีผลในวันที่ 1 มกราคม 2560 รวมถึงมาตรการเพิ่มส่วนต่างราคาระหว่างแก็สโซฮอลล์ E20 แก็สโซฮอล์ E10 ตามค่าความร้อนที่จะต่างกันราว 4-5 บาทต่อลิตร เพื่อส่งเสริมการใช้ E20 ออกไปก่อนเช่นกัน